สิ้นสมเด็จช่วง จบตำนานพระเจ้า 5 พระองค์
ตำนานพระเจ้า 5 พระองค์เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.2496 -2498 เนื่องด้วยความเก่ง ฉลาด และหลักแหลม ของพระมหาหนุ่ม 5 รูป ที่เป็นศิษย์เรียนการแต่งฉันท์ กับ นาวาอากาศแย้ม ประพัฒน์ทอง ปรมาจารย์ภาษาบาลีในสำนักวัดสามพระยา
การแต่งฉันท์เป็นวิชาหนึ่งของประโยค ป.ธ. 8
พระมหาทั้ง 5 รูปที่ อาจารย์แย้มให้สมัญญานามว่า พระเจ้า 5 พระองค์ มีชื่อคล้องจองกัน คือ
นิยม เกี่ยว พลอย ช้อย ช่วง
นิยม คือพระมหานิยม ฐานิสฺสโร วัดราชบูรณะ หรือวัดเลียบ
เกี่ยว คือพระมหาเกี่ยว อุปเสโณ วัดสระเกศ
พลอย คือพระมหาพลอย ญาณสํวโร วัดเทพธิดาราม
ช้อย คือพระมหาช้อย มหาธีโร วัดมหาตุ จ.ราชบุรี
ช่วง คือพระมหาช่วง วรปฺุญโญ วัดเบญจมบพิตร
แต่ละรูปสอบไดั เป็น เปรียญธรรม 9 ประโยค เพียงแต่ต่าง พ.ศ. กันเท่านั้น
ทั้ง 5 รูป หรือพระเจ้า 5 พระองค์ มีศรัทธาเหนียวแน่น ครองสมณเพศจนวาระสุดท้าย ของชีวิตโดยเจ้าคุณช้อย มหาธีโร ป .ธ.9 วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี มรณภาพก่อนเพื่อนเมื่อ 9 มกราคมพ.ศ. 2538 สิริอายุ 69 ปี ในสมณะศักดิ์ที่ พระเทพวิสุทธิโมลี เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี
องค์สุดท้ายแห่งพระเจ้า 5 พระองค์ ที่ มรณภาพคือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง มรณภาพ เมื่อ วันที่ 9 ธันวาคม 2564 สิริอายุ 96 ปี เท่ากับสิ้นตำนานพระเจ้า 5 พระองค์ที่ได้การกล่าวขาน มาเนิ่นนาน แต่นี้เหลือแต่ตำนาน
จะขอลำดับเกียรติยศ ทั้ง5 รูป เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย ด้วยว่าทั้ง 5 รูปนั้นเจริญเติบโตในสมณศักดิ์ ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะถึง 3 รูป เป็นรองสมเด็จ 1 รูป เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ 1 รูป
กล่าวคือ
พระมหานิยม ฐานิสฺสโร จากวัดราชบูรณะ ได้รับพระบัญชาให้มาดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาส วัดชนะสงคราม
ณ ที่นี่พระคุณเจ้าเจริญทั้งตำแหน่งการปกครอง และสมณศักดิ์ โดยล่าสุดได้รับโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาธีราจาย์ จัดว่าเป็นพระมหาเถระที่มีเพาเวอร์สูง เป็นเสาหลักของคณะสงฆ์ไทย เมื่อท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหนต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลางนั้น คณะสงฆ์อยู่ในระเบียบ ตั้งอยู่ในธรรม วินัยอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นยังเป็น กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นหนึ่งในคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ท่านละสังขารเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 สิริอายุ 83 ปี
พระมหาเกี่ยว อุปเสโณ หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก และตำแหน่งทางวิชาการและบริหาร ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยอีกหลายหน้าที่
ท่านละสังขารวันที่ 10 สิงหาคม 2556 สิริอายุ 85 ปี
พระมหาพลอย ญาณสํวโร หรือเจ้าคณะรองที่ พระวิสุทธิวงศาจารย์ อดีตเจ้าคณะภาค 3 ภาค 14 และภาค 18
มรณภาพ 29 พค. 2547 สิริอายุ 84 ปี
พระมหาช้อย มหาธีโร เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ อดีตเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี สมณศักด์สุดท้ายคือพระราชาคณะชั้นเทพ มรณภาพ 9 มกราคม 2538 สิริอายุ 69 ปี
พระมหาช่วง วรปุญโญ หรือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
อดีตประธาน กรรมการมหาเถรสมาคม อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่ (รักษาการ) สมเด็จพระสังฆราชอดีตประธานมหาคณิสสร อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และผู้ริเริ่มโครงการสมานฉันท์โดยใช้หลักศีล 5
เกียรติคุณที่ได้รับยกย่องคือชีวิตนี้มีแต่ให้ จะเห็นผลงานที่ท่านสร้างไว้ เช่นถาวรวัตถุทั้งที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ที่พุทธมณฑล มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎก จารึกในหินอ่อน ตั้งอยู่ที่พุทธมณฑล
ศาลาปฏิบัติธรรม และบำเพ็ญกุศล ทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศ
ผู้นำสงฆ์หลายรูป ถวายความอาลัยว่าการละสังขารของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ คือความสูญเสียครั้งสำคัญของคณะสงฆ์ และเสาหลักพระพุทธศาสนาแห่งโลก
แม้ว่าพระคุณท่านจะละโลกนี้ ตามสามัญลักษณะ แต่ชื่อเสียงของพระคุณท่านเป็นอมตะ สมกับภาษิตว่า
พฤษภกาสร อีกกุญชร อันปลดปลง
โททนต์ เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่ว แต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
(กฤษณาสอนน้อง พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)
โดย อารามชรา