ไทย-อินเดียร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SAMVAD-สัมวาทะ ครั้งที่ 4
เอกอัคราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ,เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และ VIF ร่วมแถลงข่าวจัดการประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อเป็นเวทีสัมวาทะ พูดคุยแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมของเอเชียและของโลกในปัจจุบัน โดยใช้ธรรมะที่มีความเป็นสากล เชื่อมโยงกับศตวรรษแห่งธรรม ที่จะนำไปสู่สันติสุขและมนุษยธรรมของมวลมนุษยชาติ
ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ,นายนาเกซ ซิงห์ เอกอัคราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และ พระเมธีวรญาณ คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าวการจัดประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 ในประเทศไทย โดยกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จากการบวชใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา สาธารณรัฐอินเดียต่อเนื่องไปจนถึงการจัดโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 1 และ 2 การจัดโครงการธรรมยาตราครั้งที่ 3 ที่มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ถึง วันที่ 19 มีนาคม 2567 สร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวในกรุงเทพมหานครเชียงใหม่ อุบลราชธานี และ กระบี่ มีผู้ร่วมสักการะเกือบ 5 ล้านคนจากทั่วประเทศกระทั่งปลายปี 2567 สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ได้จัดโครงการธรรมยาตราครั้งที่ 4 ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันคลังปัญญา หรือ Think Tank ของอินเดียอย่างต่อเนื่อง และได้ร่วมกันประกาศ ศตวรรษแห่งธรรม ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา โดยจะฝังไทม์แคปซูล หรือ แคปซูลแห่งกาลเวลา เพื่อบอกกล่าวแก่คนในโลกอนาคตอีก 234 ปีข้างหน้า
การประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 เป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธในหัวข้อการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในหัวข้อ และหัวข้อ”ศตวรรษแห่งเอเชียของธรรมะ-ธรรม” กระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันในระดับสากล และความยั่งยืนที่เกิดจากการพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่ง ดร.สุภชัยกล่าวว่า เป็นการย้อนยุคปลุกอุดมการณ์พุทธและฮินดู ที่เป็นรากเหง้าและต้องรักษาไว้ การจัดงานครั้งนี้จึงเป็นอีกก้าวกระโดดที่สำคัญของแผ่นดินลุ่มน้ำโขง ที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระธรรมทูตสายที่ 8 มาเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการจัดงานครั้งนี้เป็นไปด้วยจิตบริสุทธิ์ไม่มีการเมืองแอบแฝง แต่ต้องการใช้หลักธรรมเผยแผ่เสมือนการต่อเทียนในดินแดนลุ่มน้ำโขงไปยังที่อื่นๆด้วยหลักมนุษยธรรม
นายศรี คุรุมูรติ ประธานของ Vivekananda International Foundation หรือ VIF กล่าวผ่านการบันทึกวิดีโอว่า การจัดประชุม SAMVAD มาจากจุดเริ่มต้นวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีอินเดียและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อปี 2015 ที่เล็งเห็นการเติบโตของเอเชีย เศรษฐกิจเอเชีย และอารยธรรมเอเชีย ท่ามกลางบริบทความท้าทายที่โลก จึงต้องมีการจัดระเบียบโลกใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง รุนแรงและสงครามที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งการจัดครั้งแรกของไทยในการประชุมSAMVAD ครั้งที่ 4 จึงเป็นการเชื่อมต่อทางอารยธรรมอย่างลึกซึ้ง และเป็นไปตามศตวรรษแห่งเอเชีย หรือธรรมะ ที่มีความเป็นสากล ยั่งยืนบนความพึ่งพาซึ่งกันและกัน
ฯพณฯ นาเกซ ซิงค์ เอกอัคราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุม SAMVAD ซึ่งแปลว่า”การสนทนา”หรือ”การเจรจา”แล้วแต่บริบทหัวข้อหลักของSAMVAD ทุกครั้งคือการนำหลักปรัชญาและหลักการทางจิตวิญญาณของเอเชียโบราณ จากศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธมาใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์ที่ดีตลอดมา โดยยกตัวอย่างประเทศไทยที่มีความสันติสุข สมานฉันท์ยั่งยืน โดยเฉพาะจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แม้จะถูกท้าทายโดยโลกวัตถุนิยมก็ตาม ซึ่งเชื่อว่าการประชุม SAMVAD ในประเทศไทยเป็นพระประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับยกคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี้ ในปี 2014 ที่กล่าวไว้ว่าศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษของเอเชีย แต่จะเป็นศตวรรษแห่งเอเชียไปไม่ได้ ถ้าไม่มีศาสนาพุทธ และจะต้องเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า
พระเมธีวรญาณ คณะบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าวว่า การประชุม SAMVAD เป็นการแก้ปัญาเรื่องความขัดแย้งและสำนึกเกี่ยวกับธรรมชาติรอบตัว ซึ่งมีหลากหลายประเทศ และหลากหลายศาสนาเข้าร่วมประชุม ดังนั้นการประชุม SAMVAD หรือ สัมวาทะ เป็นคำที่มีความหมายเชิงสร้างสรรค์บนเวทีของการพูดคุย โดยเฉพาะในหลักพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงชัดเจนว่าความเป็นมงคล หรือการแก้ปัญหาทั้งปวงต้องมีเวทีของการพูดคุยแบบสัตบุรุษ ผู้รู้ นักปราชญ์ ที่มีความเข้าใจการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงอันเป็นมงคลสูงสุด
SAMVAD หรือ สัมวาทะ แม้จะมีรากฐานมาจากภาษาสันสกฤต หรือภาษาบาลี แต่เมื่อแปลออกมาเป็นความหมายในภาษาไทย คือการแก้คำว่า วิวาทะ เป็นสัมวาทะหรือสัมมาวาทะ อันเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของสังคมโลก ทั้งวงกว้างและวงแคบ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ความทุกข์คือปัญหา” เป็นสารตั้งต้นของความเป็นมนุษย์ ซึ่งทุกคนมีหน้าที่แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยธรรมะอย่างแท้จริง
ดังนั้นเวที SAMVAD จึงเป็นเวทีที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญในพระพุทธศาสนา บนความหลากหลายทางเชื้อชาติ ประเพณี วัฒนธรรม ลักทธิความเชื่อ ซึ่งยึดโยงถึงความหมายที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมะไว้อย่างเป็นสากลเหมาะกับทุกคนในโลก ที่สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นของลัทธิความเชื่อหรือศาสนาใด แต่เป็นสมบัติของมนุษยชาติ
ฉะนั้นการประชุมสัมวาทะ คือการคบหากับสัตบุรุษผู้มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหา การรับฟังซึ่งกันและกัน เป็นหัวใจหลักของการประชุม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและตกผลึกทางความคิดในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เพื่อความสงบ สันติสุข ทั้งในระดับตนและระดับโลก ตามกรอบของอริยสัจ
พระเมธีวรญาณยังกล่าวว่า เวทีประชุม SAMVAD ยังนำมาสู่การพัฒนาเรื่อง“ศตวรรษแห่งธรรม” หรือ Dhamma Century ตามแนวทางสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ที่พยายามที่จะปลุกแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนทั้งโลก ซึ่งเลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนพูดคุย สัมมนาในหลายเวที เพื่อขยายข่ายความคิดเรื่อง “ศตวรรษแห่งธรรม” ว่า “ในศตวรรษนี้ธรรมะเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาและทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข” อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็สามารถลดปัญหาใหญ่ๆ ที่จะทำให้เกิดการทำลายล้างกันลงไปได้ ด้วยการพูดคุยในเวทีSAMVAD ไปสู่ศตวรรษแห่งธรรมได้
เริ่มที่ ถ้าเรายังมีความยึดมั่นถือมั่นในลัทธิความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมของตัวเองแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นทำให้เกิดการแบ่งแยกและการแบ่งแยกทำให้เกิดการแข่งขัน การแข่งขันทำให้เกิดการไม่ไว้ใจกัน และการไม่ไว้ใจกันนำไปสู่การทำลายล้างกัน เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามที่จะทำให้ธรรมะมีความเป็นสากลมากที่สุดเพราะฉะนั้นถ้าจะสรุปคำว่า ศตวรรษแห่งธรรม ก็คือ ช่วงเวลาแห่งธรรมของสัตบุรุษเพื่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง
สำหรับการประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 เป็นความร่วมมือระหว่าง Vivekananda International Foundation , India (VIF) ร่วมกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ,ศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, International Buddhist Confederation (IBC),Japan Foundation-Japan (TBC) และมูลนิธิวีระภุชงค์ ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อ“ศตวรรษแห่งเอเชียของธรรมะและธรรม” การกระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันในระดับสากล และความยั่งยืนที่เกิดจากการพึ่งพาอาศัยกัน โดยจัดการประชุมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ วันที่ 15 ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร.และวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมโซฟิเทล โภคีธารา รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดกระบี่