คปภ. ผนึกกำลัง ชาวอยุธยา รณรงค์ปลุกพลังนักบิดทำประกันภัย พ.ร.บ. ตั้งเป้านำร่อง
นิคมอุตสาหกรรมและนักบิดในเมืองพระนครศรีอยุธยา สู่การทำประกันภัย พ.ร.บ. 100%
คปภ. ต่อยอด รุกรณรงค์ปลุกนักบิด ส่งเสริมประชาสัมพันธ์การทำประกันภัย พ.ร.บ. ในพื้นที่นำร่องนิคมอุตสาหกรรม แห่งที่ 2 นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน พร้อมตั้งเป้าพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่
ที่มีการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. 100%
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (6 ตุลาคม 2565) ได้มอบหมายให้ นายชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการ
ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “คปภ. ปลุกพลังนักบิด เปิดโลกใหม่ให้คุ้มครองด้วยประกันภัย พ.ร.บ.” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปลุกพลังและรณรงค์เชิงรุกในพื้นที่นำร่องนิคมอุตสาหกรรมแก่เจ้าของรถ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และหันมาใส่ใจทำประกันภัย พ.ร.บ. ภายใต้โครงการรณรงค์เชิงรุกในพื้นที่นำร่องเพื่อส่งเสริมการทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมงานและกล่าวต้อนรับพร้อมทั้งผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ผู้แทนส่วนราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาสาสมัครประกันภัย เข้าร่วมงาน ณ ลานกิจกรรม ชั้น 2 โซนโรงภาพยนตร์ SF ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยนางสาวสิริพักตร์ สุวรรณทัต ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัย
จากรถ กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการว่า เนื่องจากสถิติที่ผ่านมา พบว่าข้อมูลการจดทะเบียนรถสะสมภาพรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565 มีรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนจำนวนกว่า 22 ล้านคัน ซึ่งเป็น
รถที่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. เพียง 14 ล้านคัน หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของรถที่จดทะเบียนทั้งหมด จากข้อมูลการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย(1 มกราคม 2565 – 31 สิงหาคม 2565 ) ได้มีการเยียวยาผู้ประสบภัยจากรถมากถึง5,289 ราย คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนรถที่ไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. จำนวนมาก โดยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ประสบภัยนั้นเกิดจากรถจักรยานยนต์ กล่าวได้ว่าการจัดกิจกรรม “คปภ. ปลุกพลังนักบิด เปิดโลกใหม่ให้คุ้มครองด้วยประกันภัย พ.ร.บ.” ในครั้งนี้
จะสร้างความตระหนักให้กับประชาชนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประกันภัยพ.ร.บ มากยิ่งขึ้น โดยได้เน้นกลุ่มเป้าหมายคือผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างยั่งยืน และผลักดันให้ทุกพื้นที่มีการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างเต็มรูปแบบ
นายชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการ คปภ. ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ได้กล่าวว่า
การประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือประกันภัย พ.ร.บ. ถือเป็นประกันภัยภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถทุกคันทุกประเภทต้องจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร รวมถึงคนเดินเท้า อีกทั้งสำนักงาน คปภ. ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนด้านประกันภัย พ.ร.บ. ในหลากหลายมิติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองตามประกันภัย พ.ร.บ. จากเดิม 300,000 บาท ให้ได้รับความคุ้มครองสูงสุด 504,000 บาท การขยายช่องทางการจำหน่ายประกันภัย พ.ร.บ. ให้ประชาชนสามารถซื้อหรือต่อประกันภัย พ.ร.บ. ที่สะดวกยิ่งขึ้น อาทิ ช่องทางเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เคาน์เตอร์เซอร์วิสใน 7-11 นอกเหนือจากการซื้อผ่านตัวแทน หรือนายหน้าประกันภัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีระยะเวลาความคุ้มครองระยะยาว 3 – 5 ปี เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และเป็นการเพิ่มทางเลือกแก่ประชาชนรวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมการขนส่งทางบก เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศในการตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ ก่อนชำระภาษีรถยนต์ประจำปี
สำหรับกิจกรรมที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ท่านเลขาธิการ คปภ. (ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ได้ให้เกียรติเป็นประธานร่วมในพิธีแถลงข่าว และผนึกกำลังกับภาคีเครือข่าย ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 ท่านเลขาธิการ คปภ. (ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ) ร่วมกับนางสาวประภาศรี พิษณุพงควิชชา ผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดระยอง ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมตามโครงการฯ ดังกล่าว ณ จังหวัดระยอง ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของโครงการที่มีการขยายผลมาสู่ส่วนภูมิภาค
การจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันนี้ สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมือง
ที่สำคัญทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และด้านเกษตรกรรมอีกทั้งเป็นจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ในพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีความพร้อมที่จะเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องในการปลุกพลังและส่งเสริมประชาสัมพันธ์
เรื่องประกันภัย พ.ร.บ. ให้ตระหนักถึงความสำคัญ รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับจากการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. รวมทั้งตั้งเป้าหมายผลักดันให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่ในการทำประกันภัย พ.ร.บ. เต็มรูปแบบ 100% และจากข้อมูลการจดทะเบียนรถของจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565 พบว่า
มีรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนสะสมจำนวน 272,740 คัน ซึ่งเป็นรถที่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. เพียง 182,231 คัน หรือ ประมาณร้อยละ 66.81 ของรถที่จดทะเบียนทั้งหมดเท่านั้น
ซึ่งการจัดกิจกรรมในวันนี้ ได้มีการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการให้ความบันเทิงแก่ผู้เข้าร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรม Roadshow การสร้างการรับรู้ด้านประกันภัย พ.ร.บ. ในย่านชุมชนใกล้นิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และเชิญชวนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมงานผ่านกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงกิจกรรมรณรงค์ ที่จัดให้มีการเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์จากประกันภัย พ.ร.บ.
การออกบูธประชาสัมพันธ์ให้ความรู้จากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมินิคอนเสิร์ตจากคุณเต๋า ภูศิลป์ และซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งต่อไป สำนักงาน คปภ. ได้มีกำหนดการจัดกิจกรรมที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ในวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565 ที่จะถึงนี้
สำนักงาน คปภ. มีความเชื่อมั่นว่า การผนึกกำลังร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องในวันนี้ เปรียบเสมือนเป็นการร่วมมือร่วมใจและปลุกพลังเพื่อสื่อสารถึงประชาชน โดยเฉพาะเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองทุกคน ได้ตระหนักถึงความสำคัญและรับรู้ถึงประโยชน์ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของการทำประกันภัย พ.ร.บ. โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับงานโครงการ และประกันภัย พ.ร.บ. รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ http://wsu-mvp.com และ Facebook กองทุนทดแทนผู้ประกันภัย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : สายด่วน คปภ. 1186