ปัญหาที่ดินไทยจะเดินหน้าไปต่อได้อย่างไร(4) โดย-พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ
3. การปฏิรูปข้อมูล ต้องมีฐานข้อมูลการถือครองที่ดิน ตลอดจนข้อมูลแปลงที่ดินต้องสามารถเข้าถึงตรวจสอบได้ มีนักวิชาการได้พบว่า บางท่านมีที่ดินนับแสนไร่ บางท่านไม่มีที่ดิน แต่พอไปถามกรมที่ดินตอบว่าไม่มีข้อมูล กฏหมายที่ดิน มาตรา 6 ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ที่เป็นโฉนดต่อเนื่อง 10 ปี และ หากเป็นเอกสารสิทธิ เช่น นส. 3 ปล่อยทิ้งร้างต่อเนื่อง เวลา 5 ปีถือว่าเอกชนนั้นสละสิทธิ์รัฐจะเอาคืนได้ ปรากฎว่าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเลย ทั้งที่เมื่อขับรถผ่านไปผ่านมาก็จะพบที่รกร้างว่างเปล่าทิ้งร้างจำนวนมาก แต่กฎหมายมาตรานี้ไม่เคยใช้บังคับเลย เพราะมีการถูกรวบอำนาจอยู่ส่วนกลาง จำเป็นต้องปฏิรูปข้อมูล
4. การปฏิรูปกฏหมายและแผนที่ของกฏหมายต่างๆ อาทิ พรบ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพรบ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่แนวเขตทับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินต้องเร่งแก้ไขกฏหมายกันพื้นที่ประชาชนอยู่มาก่อนกฏหมายออกจากเขต และแผนที่ท้ายกฏหมายต่างๆต้องมีการจำแนกพื้นที่ การจัดทำแผนที่ให้ถูกต้องมีมาตรไม่ทับซ้อนกัน มีตัวอย่างการทำแผนที่ของรัฐที่คลาดเคลื่อนผิดพลาด เช่น ป่าบูโด–สุไหงปาดี ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานีและยะลา ไปทำแผนที่รุกไปที่ชาวบ้านเป็นปัญหาขัดแย้งต้องพิสูจน์สิทธิ์มาถึงปัจจุบัน
5. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เรื่องที่ดิน ป่าไม้ มีคดีที่ดินและป่าไม้ส่วนใหญ่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ถูกรัฐดำเนินคดี ในการต่อสู่คดีข้อพิพาทกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งต้องใช้หลักฐานจำนวนมาก เป็นอุปสรรคสำคัญในการนำข้อเท็จจริงขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ควรปฏิรูปให้เป็นระบบไตร่สวน มีการพิสูจน์สิทธิไม่ต้องให้ประชาชนไม่ต้องเป็นผู้การรวบรวมพยานหลักฐานเอง ในการระดมความคิดเรื่องกระบวนการยุติธรรมเรื่องที่ดินเมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553 สมัยเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม มีแนวคิดที่จะ ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดิน ให้ใช้การดำเนินการคดีทางแพ่งและ/หรือ มาตรการยึดทรัพย์สำหรับผู้ที่กระทำผิดหรือมาตราการเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่รัฐ และต้องมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่อ่อนแอไม่เคร่งครัดแทน