ครม.มีมติอนุมัติงบกลาง วงเงิน 2,000 ล้านบาท ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย
ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน จึงได้สั่งการและมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนภารกิจให้เป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน
โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบกลาง วงเงิน 2,000 ล้านบาท รายการเงินสำรองจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 3,425 ราย วงเงิน 1,500 ล้านบาท , การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 42,034 ราย 776 องค์กร วงเงิน 267.62 ล้านบาท , และค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงานฯ ไตรมาสที่ 3-4 (งบบุคลากร งบดำเนินงาน) วงเงิน230.38 ล้านบาท เนื่องจากในระยะเวลา 3 ปี ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2563 – 2565 กองทุนฯ ไม่ได้รับจัดสรรงบฯ และภายหลังได้รับการจัดสรรงบ จะทำให้กองทุนสามารถเข้าไปซื้อหนี้ที่เกษตรกรเป็นหนี้กับสถาบันการเงิน เข้ามาเป็นหนี้กองทุนฯ แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระคืนกับทางกองทุน จะช่วยลดภาระดอกเบี้ย และลดการถูกยึดที่ดินทำกินของเกษตรกร
สำหรับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จัดตั้งโดย พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรพ.ศ. 2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาของเกษตรกร 2) ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม 3) พัฒนาความรู้ด้านเกษตรกรรม และ 4) พัฒนาศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร และแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกร เป็นต้น
ทั้งนี้ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากโครงการนี้ จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล รักษาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกรได้มากกว่า3,425 ราย จำนวน 5,000 ไร่ เกษตรกรได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูอาชีพจำนวน 42,034 รายจำนวน 776 องค์กร มีโอกาสฟื้นฟูตนเองในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้นำไปชำระหนี้ตามกำหนด และทำให้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพ เพิ่มประสิทธิภาพทางผลผลิตการรวบรวมผลผลิต การแปรรูป การตลาด และพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ยั่งยืนต่อไป