จังหวัดภูเก็ต เดินหน้าตรวจเข้มแรงงานในเรือประมงทะเล เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์
คุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล และป้องกันการกระทำผิดกฎหมายด้านประมงทะเลสร้างความเชื่อมั่นพร้อมยกระดับสู่เทียร์ 1
วันนี้ (วันที่ 7 มิถุนายน 2566) นายธนพงศ์ อรชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายสิทธิพล เมืองสง ประมงจังหวัดภูเก็ต นางพัชราภรณ์ ชุมสุข ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับเจ้าหน้าที่คณะทำงานบูรณาการความร่วมมือในการตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการประมงทะเลและกิจการเกี่ยวเนื่อง จำนวน 13 หน่วยงาน เช่น ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดภูเก็ต(ศรชล.จังหวัดภูเก็ต) ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดภูเก็ต ประมงจังหวัดภูเก็ตพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต แรงงานจังหวัดภูเก็ต จัดหางานจังหวัดภูเก็ต เจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต กองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจน้ำ หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลท้ายเหมือง (พังงา) ฯ
ทั้งนี้ การออกปฏิบัติการสุ่มตรวจเรือประมงกลางทะเลภูเก็ต เพื่อเป็นการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ การคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล และการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายด้านประมงทะเล แม้ว่าเรือประมงทุกลำจะได้รับการอนุญาตออกทำการประมงอย่างถูกต้อง แต่เพื่อป้องกันการลักลอบการกระทำที่ผิดกฎหมายด้านต่างๆ ในระหว่างทำการประมงในทะเล
นายธนพงศ์ อรชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การออกบูรณาการร่วมในการสุ่มตรวจเรือประมงกลางทะเล จะเน้นย้ำการตรวจสภาพการจ้าง ทั้งใบสัญญาจ้าง บัตรประจำตัวแรงงาน ร่วมถึงสภาพการทำงาน สวัสดิการจากการทำงาน คือ ช่วงเวลาพัก วันหยุด วันลา ที่จะส่งผลต่อการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการดูแลในเรื่องของสุขอนามัยของแรงงาน เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาด ซึ่งเป็นการบูรณาการจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากเป็นการดูแลแรงงานในเรือประมงทะเลแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศเกี่ยวกับการทำการประมงทะเลของไทย เพื่อพร้อมที่จะยกระดับสู่เทียร์ 1 ต่อไป
ด้านนายสิทธิพล เมืองสง ประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การบูรณาการสุ่มตรวจเรือประมง นอกจากเป็นการดูแลคุ้มครองแรงงานภาคการประมงแล้ว ยังเป็นการป้องปราบป้องกันการกระทำผิดกฎหมายด้านการประมงทะเล ซึ่งจะมีทั้งการตรวจเครืองมือประมงว่ามีการฝ่าฝืนหรือลักลอบใช้เครื่องมือประมงผิดประเภทหรือต้องห้ามหรือไม่ หรือออกทำการประมงเกินระยะเวลาการของอนุญาตหรือไม่ ซึ่งหากพบมีการฝ่าฝืนหรือกระทำผิดกฎหมายจะดำเนินการตามกฎหมายทันที โดยโทษจะมีทั้งปรับและสั่งพักใบอนุญาต ถือเป็นการป้องปราบและเน้นย้ำไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายด้านประมงทะเลอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การสุ่มตรวจเรือประมงในครั้งมีการสุ่มตรวจทั้งหมด 5 ลำ โดยพบว่าเรือทั้งหมดมีทะเบียนลูกจ้าง สัญญาจ้างแรงงาน จัดสวัสดิการเวลาพักในเรือ มีการจัดทำเอกสารการจ่ายค่าจ้าง และแรงงานทุกคนมีบัญชีธนาคารที่ได้รับค่าจ้างตรงจากนายจ้างครบถ้วน และไม่พบการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งทั้ง 5 ลำ ไม่พบการกระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด